เปิด 6 เมนู ‘ครูพร้อม’ เว็บไซต์การศึกษา ฝ่ามรสุมโควิด

เปิด 6 เมนู ‘ครูพร้อม’ เว็บไซต์การศึกษา ฝ่ามรสุมโควิด

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกสาม สร้างผลกระทบกับ การศึกษาไทย อย่างมากจนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องออกมาประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน

ล่าสุดเลื่อนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน แทน

แม้จะเลื่อนเปิดเทอมไปแล้ว แต่ ศธ.ไม่อยากให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ จึงได้ระดมกำลังทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นย้ำว่าต้องคำนึงถึง ความปลอดภัย ของนักเรียนและครูซึ่ง ศธ.ได้สรุปแผนการทำงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม ศธ.จะจัดกิจกรรมเสริมความรู้ที่น่าสนใจให้กับนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและประชาชน ผ่านเว็บไซต์ “ครูพร้อม.com” ซึ่งเป็นเว็บกลางที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาไว้ด้วยกัน

โดยมีคณะทำงานที่คอยกลั่นกรองข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาได้ ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้นักเรียน ครู และประชาชนเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกเวลา โดยจะเริ่มเปิดใช้งานวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันแรก

ระยะที่ 2 ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นต้นไป ศธ.จัดรูปแบบการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร ซึ่งสถานศึกษาจะมีอิสระสามารถวางแผนการเรียนรู้ตามบริบทของตนได้

ซึ่งผ่านมา 2 วันแล้ว ที่ ศธ.เปิดเว็บไซต์ครูพร้อม น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรก มีผู้เข้าใช้เว็บไซต์ประมาณ 14,000 คน ช่วงแรกคนอาจจะเข้าชมเว็บไซต์ไม่มากนัก เพราะยังไม่รู้จักครูพร้อม จึงอยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนและประชาชนเข้ามาหาความรู้เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์นี้ด้วย

“ปัญหาอุปสรรคคือ ช่วงเวลาในการดำเนินการ แม้ ศธ.จะมีความตั้งใจที่จะจัดทำให้นักเรียน ครู และประชาชนมาหาความรู้เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์นี้ แต่ ศธ.มีเวลาเตรียมตัวและพัฒนาเว็บน้อย เพราะมีเวลาแค่ 3 วัน ในการพัฒนาเว็บเท่านั้น ดังนั้น ทำให้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องใช้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะทำงานชุดต่างๆ เข้ามาช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลที่มหาศาลมาใส่ในเว็บกลางนี้” น.ส.ตรีนุช กล่าว